วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Ship Scale Story 11.2 : เริ่มต้น(ต่อ) (Start-002)

 สวัสดีวันพฤหัสบดีครับผม

จากคราวก่อนเงินในบ้านก้อนสุดท้ายจะหมด
จะเป็นไปยังไงต่อ จะสมหวังรึจะผิดหวัง ไปอ่านกันต่อเถอะ

ภรรยาผมบอกว่าไปเรียนเถอะ อย่างน้อย ก็ยังมีวิชาติดตัวเพิ่ม ถึงแม้จะยังขายใครไม่ได้ก็เถอะ

ผมต้องขอบคุณภรรยาผมนะครับ เพราะถ้าเธอไม่สำทับให้ผมเดินตามความตั้งใจ ผมอาจคิดหน้าคิดหลังมากมาย จนสุดท้ายอาจไม่เรียน

จริงไหมอะครับ ใครจะบ้าเอาเงินก้อนสุดท้ายในบ้านไปใช้เรียนต่อเรือจำลองจนหมด

แถมไม่ใช่แค่นั้นนะ ยังมีค่าเครื่องมือ ที่ต้องซื้อมาใช้เรียนอีก เลื่อย ใบเลื่อย กระดาษทราย เข็มเย็บผ้า กาวร้อน แล็คเกอร์ ค่ารถ ค่ากิน

หลังจากตัดสินใจว่าจะเรียน ผมก็โทรติดต่อไปที่ Ship gallery ตั้งอยู่ที่ บองมาเช่ ในซอยวัดเสมียนนารี

คนรับโทรศัพท์คือพี่โจ้ ลูกเขยคุณครูครับ พี่โจ้บอกว่าต้องเข้าไปสัมภาษณ์ก่อน เพื่อดูเบื้องต้นว่ามีความสนใจ ใคร่จะศึกษาแค่ไหน

ผมก็ไม่ได้คิดอะไรให้มากมาย เพราะใจนั้นอยากจะเรียนเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว

ตกวันเสาร์ถัดจากที่โทรคุยไม่กี่วันก็ไปหาพี่โจ้ที่ Ship gallery

ความรู้สึกแรกที่เห็นเรือในร้านนั้นบอกได้คำเดียวววววว

อยากทำเป็นหมดนั่นเลยอะคร๊าบ
ผมก็เป็นอีแบบนี้แหละครับ
คนช่างฝันอยากนู่น นี่ นั่น ไปซะหมด

เอก : ถ้าได้มาเรียนจะได้ทำลำนี้ (Black Pearl ของกัปตันแจ๊ค) รึเปล่าครับ

พี่โจ้ : ถ้ามาเริ่มเรียนจะยังไม่ใช่ลำนี้นะ

เอก : แป่ว.....รึจะเป็นลำนี้ครับ (Santa Maria ของกัปตันโคลัมบัส)

พี่โจ้ : ก็ยังไม่ใช่อีกนั่นแหละครับ

ผมขมวดคิ้ว...นึกในใจแล้วมันลำไหนหว่าเอ....

เอก : รึจะเป็นลำนั้น เรือสำเภา

พี่โจ้ : ก็ยังไม่ใช่ครับ

เอก : หมดแล้วนะครับพี่โจ้ เรือที่น่าสนใจจะทำหมดแล้วนี่ครับ

พี่โจ้ : ใจเย็น ก่อนในขั้นต้นเราต้องมาเริ่มที่พื้นฐานกันก่อนทุกคน ไม่ว่าจะเคยผ่านอะไรมาก่อน ยังไงก็ต้องเริ่มเรียนรู้จากเรือฉลอมก่อนนะ

พอผมเห็นเรือฉลอมเท่านั้นแหละ ผมต้องถามตัวเองในใจเลยว่า นี่มันจะคุ้มค่ากับที่ต้องจ่ายไปเลยรึเปล่าวะเนี๊ยะ

นั่งคิดไปคิดมาก็ได้ยินเสียงภรรยาแว่วเข้ามาในหูว่าถ้าเรามัวมานั่งเรียนรู้เองแล้วมันไม่คืบหน้า ก็หาที่เรียนเพื่อจะได้ลดเวลาลงเถอะ

ผมเลยหันไปตอบทันทีเลยครับว่า.....”เรียนครับ

จ่ายตังค์ค่ามัดจำจะเรียนไปครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือรอวันเปิดเรียน

ก่อนกลับผมนึกสงสัยขึ้นมา....มีคนเรียนเยอะไหมครับ....ปรากฏว่ามีสองคน
คนหนึ่งสูงวัยเพิ่งเกษียณจาก กฟผ.

อีกคนคือผมเอง

แล้วยังไงต่อหละทีนี้.....

จากวันที่นั่งสเก็ตซ์ภาพ จนถึงวันที่ได้ลงมือทำเรือลำแรกฝันผมใช่เวลาเดินทางถึง 9 ปี สุดท้ายก็จะได้เริ่มต้นเสียที


#เรือจำลองของนายเอก
#CraftsmanshipThatchai

Link : Ship Scale Story 11.1 : เริ่มต้น(ต่อ) (Start-001)
           Ship Scale Story 11 : เริ่มต้น (Start)



วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Ship Scale Story 15 : งานซ่อมแซม (Repair Work)

งานซ่อมแซมเราก็มีนะคร๊าบบบบ

อย่าได้มัวพูดพลามทำเพลงกันเลย ไปดูไปชมกันเลยเถอะครับ


ก็เริ่มต้นจากไปดูสภาพเรือจำลองที่ป้าผมฝากให้ไปดูหน่อย อาการไม่ร้ายแรงครับ ใบเรือหมายเลขสี่ของเสาหน้า เกือบไม่เหลือแล้วไปเหมือนกัน ที่สำคัญคือพวนบนของเสากระโดงต้นนี้หักนี่สิ


ใบเรือเสานอนเกือบหมดสภาพทั้งสามใบ แต่ก็ยังพอมองทรงใบออกอยู่บ้าง

เอากันให้ชัด ๆ ไปเลยอีกทีครับ ขาดจนเหลือแต่เชือกขึง ซะงั้นอะ

ใบหมายเลขสี่ ของเสาหน้าเกือบไม่เหลือแล้วเหมือนกัน

ใบหมายเลขห้าของเสากลางหน้า สภาพยังดีอยู่ถือว่าเอามาเป็นต้นแบบให้กับใบที่ขาดไปแล้วได้ดี

ใบหมายเลขหก ของเสากลางหลัง สภาพยังดีอยู่เหมือนกัน

ใบหมายเลขเจ็ด ของเสาหลัง สภาพยังดีอยู่เหมือนกัน สีแค่ซีดไปแล้วเท่านั้นเอง

มาดูกันอีกนิดหน่อยครับ เอ้า!!! เสาไม่เรียงเป็นแนวเดียวกันนี่

สองเสาหลังนี่ สภาพดีอยู่พอควรเลย

มาดูด้านหน้ากึ่งบนกันบ้าง... นั่นไงจริงด้วยครับ เสาไม่ได้เรียงเป็นแนวเดียวกันจริง ๆ ด้วยครับ

หลังจากดูอาการพร้อมสเก็ตซ์ภาพและวัดขนาดแล้ว เราก็มาตัดใบเรือชุดใหม่ไปแทนที่ของเดิมซะ

พร้อมรึยังครับพี่น้อง เซอร์วิสนอกพื้นที่ก็ต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือลงกล่องกันหน่อย

กล่องเครื่องมือผม คงไม่เล็กไม่ใหญ่ไปใช่ไหมครับ... 555555 ออกแบบเอง ทำเอง จากกระดาษล้วน ๆ

ตัดเชือกทั้งใบของเก่าทิ้งสิครับ แล้วชึงเสากระโดงใหม่ ผมเพิ่งสังเกตุว่าเสากระโดงนั้น ของเดิมใช้เหมือนเอากิ่งไม้มาเหลาให้ตรงอย่างนั้นแหละ

เชือกเส้นหลักขึงเสากระโดงให้ตั้งตรง เชือกเส้นรองช่วยขึงเสากระโดงไม่ให้เอียงซ้ายขวา

ใบของเสนนอน..เอ้า ทำงานครับ ทำงาน

ตอนขึ้นใบที่สี่ ผมยังไม่คุ้นชินกับการใส่ใบเรือกับรอกของเรือใบรุ่นนี้ ผมเล่นซะเชือกหย่อนเลยครับ ใบที่ห้า ใบที่หก ง่ายเลย

ใบหมายเลขที่เจ็ดกเรียบร้อยตามลำดับ

ใบที่สี่ขัดตาอย่างเห็นได้ชัด ตัดเชือกทิ้ง แต่งเสากระโดงใหม่ ใส่ใบใหม่อีกรอบ ก็เป็นอันว่าเรียบร้อย

ขอถ่ายมุมบนหน่อยเถอะนะ

มุมล่างด้วยสิ

มุมบนอีกทีเฮอะ

สุดท้ายแหละ ป้าบอกว่า "เอาวางไว้ที่หน้าบ้านก่อนเดี๋ยวค่อยเอาขึ้นไปเก็บ" ผมนี่ยิ้มเลย แต่ผมว่าป้าผมยิ้มมากกว่านะครับ

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

Ship Scale Story 14.01 : 26 Letters for Art of Life on Building Ship Model - S

สวัสดีครับผม ปีนี้ก็ยังคงตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ปีนี้ผมขอนำเสนอบทความที่สะท้อนการทำงานหัตถศิลป์ผ่านเหล่าตัวอักษรภาษาอังกฤษกันครับ นั่นหมายความว่าเราจะมีให้อ่านกัน 26 บทแน่ๆ (เชื่อสิ) และแน่นอนผมยังไม่ลืมบทก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ไปแน่นอนครับ ว่าแล้วจะช้าอยู่ทำไม เราไปเริ่มตัวแรกกันเลยดีกว่าครับ



             การลงมือทำงานหัตถศิลป์ต้องใช้ตัวช่วยหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือ จิตใจ หรือ จิตวิญญาณ

             จิตใจสำคัญยังไงกับงานด้านนี้ ก่อนจะไปถึงว่าสำคัญยังไง เรามาดูกันก่อนว่า งานด้านนี้มีขั้นอะไรบ้าง

                  1.ขั้นของการเริ่มต้น (Start)

                  2.ขั้นพื้นฐาน (Basic)

                  3.ขั้นพัฒนาตัวเอง (Development)

                  4.ขั้นเป็นตัวตน (Professional)

            สี่ขั้นที่พูดถึงนี้ผมจำกัดความขึ้นมาเป็นไปในแบบที่ผมคิดแต่เพียงผูเดียวนะครับ ไม่ได้หาอ้างอิงมาจากที่ใด งั้นเรามาดูกันต่อดีกว่า

            ขั้นของการเริ่มต้น เราอาจรู้สึกเพียงแค่ว่า เอาใจมาสนใจ นี่ก็เพียงพอแล้วอย่างนั้นเหรอ ครับแค่นั้นก็เพียงพอแล้วครับ เวลาเริ่มต้นเราต้องมีใจกับงานนั้น ๆ ก่อน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วครับ

            มาต่อกันที่ ขั้นพื้นฐาน เมื่อเรามีใจกับงานนั้น ๆ แล้ว เราย่อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่คุณครูถ่ายทอดให้ เสมือนถ้วยชาเปล่าที่ยังไม่เคยเติมสิ่งใดลงไป แล้วอะไรบ้างหละที่จะได้รู้ได้ลองกันในขั้นนี้

                   1.อ่านแบบเรือได้

                   2.เลื่อยไม้ด้วยเลื่อยฉลุได้

                   3.ใช้คัตเตอร์ได้

                   4.ใช้กระดาษทรายได้

                   5.ใช้ตะไบชนิดต่างๆ ได้

                   6.รู้จักเงื่อนของเชือก

                   7.เย็บผ้าได้

                   8. พ่นแล็คเกอร์ได้

            สำหรับที่กล่าวมาทั้งหทดนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่จะได้เรียนรู้แน่ ๆ ครับ ปัญหาอยู่ตรงที่ผู้มาเรียนแต่ละคน จะมีความถนัดด้านไหนติดตัวมา ก็ถือว่าไม่ง่านในทันทีหรอกครับ แต่ทุกคนทำได้แน่นอน ผมเชื่อเช่นนั้น (ไม่รู้ว่าคิดผิดไปรึเปล่านะ) สำหรับสิ่งที่ยากเกิน จริตของแต่ละคนนั้น คงต้องอาศัยใจเป็นตัวบอกกับคน ๆ นั้นครับ ว่าความสำเร็จที่จะปรากฎนั้นอยู่ที่ใด เป็นรูปอย่างไร นั่นหละครับตัวช่วยเลย

            แล้วเมื่อสิ่งที่ทำอยู่ ได้ทำบ่อย ๆ ก็จะมาถึง ขั้นพัฒนาตนเอง มาถึงขั้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าคุณทำเรือลำแรก สำเร็จขึ้นมาได้แล้ว และหากยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น คุณคงต้องรู้สึก อยากทำเรือของคุณให้ดีขึ้น สวยขึ้น มาครับ มาดูต่อสิว่า อะไรจะเป็นจุดที่คุณอยากพัฒนางานของคุณให้ดีขึ้น

                    1.เนื้อเรือชิดมากขึ้น

                    2.เลื่อยได้ตรงเส้นมากขึ้น

                    3.ขัดแต่งน้อยลง

                    4.ลดเวลาการทำงาน

                    5.ผูกเชือกได้แม่นยำ

                    6.เขียนแบบเรือเป็น

            ผมขอย้ำอีกทีว่า สิ่งที่ผมเขียนขึ้นมานี้ เป็นความคิดเห็นของผมเอง มาดูกันลึก ๆ ต่ออีกหน่อยดีกว่า เนื้อเรือชิดมากขึ้นในช่วงที่เราทำเรือลำแรก ๆ เราจะไม่ค่อยระวังการปูเนื้อเรือเท่าไหร่ พอทำครั้งถัด ๆ ไป เราจะเริ่มมองตรงจุดนี้ และอยากลดจุดบอดของตัวเอง ถ้าทำได้ คุณก็ชื่อว่า พัฒนาขึ้นแล้ว นั่นเอง หรือถ้าทำจนชำนาญแล้ว เวลาทำงานก็สามารถลดลงได้ด้วย เช่นกัน แต่ระหว่างทาง ที่คุณกำลังพัฒนาตัวอยู่นั้น อุปสรรคของคุณ ๆ คงอยู่ตรงที่การตัดสินใจ ในการทำให้ดีที่สุด เพราะบางครั้งเราอาจจะเหนื่อย อาจจะหมดแรงที่จะทำ ให้ใกล้กับคำว่าดีที่สุด จนคุณอาจยอมว่า เอาเท่านี้ก่อน เอาพอผ่าน ก็เป็นได้ และนั่นก็หมายความว่า จิตใจคุณไม่เข้มแข็งพอ

            และแล้วก็มาถึงขั้นสุดท้ายครับ เมื่อคุณทำสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาได้จนถึงจุดที่คุณพอใจทั้งหมดได้แล้ว และ ยังคงรักษามาตรฐานงานชิ้น ๆ ไว้ได้ตลอด นั่นก็เรียกว่า เป็นตัวตน ของคุณได้แล้วครับ

            เห็นไหมครับว่า กว่าเราจะเริ่มต้น จนเป็นตัวตนของเราได้นั้น จิตใจเรานั้นต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในขั้นสุดท้ายที่พูดว่า ยังคงมาตรฐานงานชิ้นนั้น ๆ ไว้ได้ตลอดอันนี้ต้องใช้มากกว่าคำว่าจิตใจ และคำ ๆ นั้นก็คือ จิตวิญญาณครับ และนี่แหละครับ 



 Letter for Art of life on Building Ship Model
S = Spirit